Facial Skin Types

ประเภทของผิวหน้า

เนื่องจาก ผิวหนัง ( Skin ) ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การดูแลผิวอย่างผิดวิธีอาจส่งผลต่อสุขภาพผิวพรรณอย่างคาดไม่ถึง จากการวิจัยพบว่าการปล่อยผิวตามธรรมชาติโดยไม่ปฏิบัติดูแลเลย ยังดีกว่าการหมั่นดูแลผิวด้วยวิธีที่ผิด ๆ เพื่อที่จะรักษาความสวยงามและความอ่อนเยาว์ของผิวให้อยู่ได้ยาวนานที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวและการดูแลผิวแต่ละประเภทอย่างถูกต้องให้ดีเสียก่อน

ผิวธรรมดา

ผิวธรรมดาเป็นผิวที่มีความยืดหยุ่นของเซลล์ผิวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่แห้งหรือมันจนเกินไป เนียนเรียบเกลี้ยงเกลา ไม่ค่อยมีปัญหาผิว เช่น สิว ฝ้า ตุ่ม หรือผดผื่น คนที่มีผิวธรรมดาไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลหรือการบำรุงรักษาที่ยุ่งยากแต่อย่างใด เพื่อที่จะรักษาผิวให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ควรใช้วิธีการบำรุงผิวที่เรียบง่ายและสะดวกต่อการปฏิบัติให้มากที่สุด เมื่อทำความสะอาดผิวแล้ว ควรซับผิวให้หมาด บำรุงด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน หรือมีส่วนผสมของน้ำมันในปริมาณน้อย

  • ควรทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวจากสมุนไพรธรรมชาติ เพราะมีความอ่อนโยนต่อผิว ปัจจุบันออกแบบมาให้ใช้ง่าย สะดวก นั่นคือ สบู่สมุนไพรธรรมชาติ ซึ่งมีหลากหลายสูตรให้เลือกใช้ที่เหมาะกับสภาพผิว สามารถใช้ชำระล้างผิวหน้าและผิวกายได้เป็นประจำทุกวัน เช้า-เย็นได้อย่างปลอดภัย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ คลีนเซอร์หรือโทนเนอร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสารทำความสะอาดที่รุนแรง
    ควรปกป้องผิวจากรังสี UV ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมและการเกิดริ้วรอยของผิวด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน และไม่ควรลืมที่จะเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวด้วยการมาสก์หรือผลัดเซลล์ผิวสัปดาห์ละครั้ง

ผิวแห้ง

ผิวแห้งเป็นผิวที่ไม่มีน้ำมีนวล แลดูไม่ชุ่มชื้น หลังจากทำความสะอาดจะรู้สึกว่าผิวแห้งตึง ลอกเป็นขุย และมีอาการคัน อาการแห้งของผิวมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การใช้สารเคมีบางประเภท เช่น เรตินอยด์ หรือเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์ การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงที่มีประจำเดือน เป็นต้น

  • คนที่มีผิวแห้งควรมาสก์ผิวสัปดาห์ละครั้งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ดื่มน้ำให้มาก ( อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ) และไม่ควรลืมทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกไปข้างนอก หรือต้องเผชิญกับแสงแดดแรง ๆเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมและริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร
  • เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ซับผิวให้พอหมาด ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ในขณะที่ผิวยังชื้นอยู่ เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นไว้กับผิวให้มากที่สุด ควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
  • ควรทำความสะอาดผิววันละ 1-2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรธรรมชาติที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำหอม และสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวเช่น สาร SLS,SLES นอกจากนี้สบู่สมุนไพรธรรมชาติยังมีมอยส์เจอร์ไรซ์เซอร์ที่ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ผิวอีกด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญด้าน แนะนำว่ามอยส์เจอไรเซอร์ที่ดีที่สามารถจัดเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวได้นาน ควรมีส่วนผสมของสารที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับตัวสร้างความชุ่มชื้นที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ เช่น กรดไฮยาลูโลนิก และ โซเดียม พีซีเอ นอกจากนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความชุ่มชื้นของผิวเอาไว้ให้ได้มากและยาวนานยิ่งขึ้น บริษัทเครื่องสำอางหลายแห่งได้มีการผสมสารบางตัวได้แก่ Colloidal Oatmeal เข้าไปในเครื่องสำอาง ทำให้เครื่องสำอางนั้นมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใต้ผิวหนังได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะช่วยรักษาผิวที่แห้งให้เนียนนุ่มชุ่มชื้นได้นานขึ้น

ผิวมัน

ผิวมันเป็นผิวที่มีการผลิตน้ำมันจากต่อมไขมันมากเกินไป ทำให้ผิวแลดูเป็นมันแวววาว สกปรก มีรูขุมขนกว้าง และเป็นสิวได้ง่าย แต่ข้อดีของผิวมันคือ ชุ่มชื้นอยู่เสมอ จึงไม่ค่อยเกิดริ้วรอยได้ง่ายเหมือนผิวแห้ง เนื่องจากมีลักษณะที่แตกต่างจากผิวธรรมดาหรือผิวแห้ง การปฏิบัติต่อผิวมันจึงต้องมีความแตกต่างออกไปด้วย

  • หากผิวมันมาก หลังจากทำความสะอาดตามปกติ ให้เช็ดผิวด้วยโทนเนอร์ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิกและแอลกอฮอล์ หลาย ๆ ตำราบอกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพผิว แต่หากคุณเป็นคนที่มีผิวมันมาก ( ผิวยังคงมันอยู่แม้ว่าจะล้างทำความสะอาดหลายครั้งแล้วก็ตาม ) แอลกอฮอล์ กลับเป็นผลดีต่อคนผิวมัน
  • ควรทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก หรือกรดเอเอชเอ เนื่องจากจะช่วยลดการผลิตน้ำมันจากต่อมไขมันให้น้อยลง
  • หากต้องออกไปข้างนอกหรือต้องเผชิญกับแสงแดดอย่าลืมใช้ครีมกันแดดและใช้โคลนมาส์กผิวหน้าสัปดาห์ละครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการทามอยส์เจอไรเซอร์ เพราะผิวมีน้ำและน้ำมันมากเกินพอแล้ว การทามอยส์เจอร์ไรเซอร์จะยิ่งเป็นการเพิ่มความมันให้แก่ใบหน้า ทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิวได้ในที่สุด หากอยากใช้หรือจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ให้เลือกมอยส์เจอไรเซอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน
  • แต่สำหรับคนที่มีผิวมันมาก ๆ หากทำตามขั้นตอนแล้วยังพบว่าผิวยังคงมันอยู่ ให้ลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ซัลเฟอร์ กรดอาเซเลอิก และเรตินอยด์ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น

ผิวผสม

ผิวผสมหมายถึงผิวที่มีบริเวณที่เป็นผิวแห้งและผิวมันรวมกันอยู่ โดยทั่วไปคนที่มีผิวผสมจะมีความมันบริเวณทีโซน ได้แก่ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง ในขณะที่ผิวบริเวณแก้มจะแห้ง ผู้ที่มีผิวผสมหลายคนอาจประสบปัญหา ผิวหนัง (Skin) อักเสบอันเนื่องมาจากการที่ผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกินไป มีเชื้อราขึ้นบริเวณหนังศีรษะและคิ้ว ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง รังแค และอาการดังกล่าวอาจลุกลามมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ แต่สำหรับผู้ที่มีผิวผสมทั่วไป การดูแลสภาพผิวอาจยุ่งยากหรือซับซ้อนมากกว่าคนที่มีผิวแห้ง ผิวธรรมดา หรือผิวมัน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้วิธีการดูแลผิวแห้งและผิวมันควบคู่กันไป

  • เมื่อต้องการออกไปข้างนอกหรือต้องเผชิญกับแสงแดด ให้ทาครีมกันแดดทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรธรรมชาติที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำหอม และสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวเช่น สาร SLS,SLES เป็นประจำทุกวัน เช้า-เย็น
  • เมื่อทำความสะอาดผิวเรียบร้อยแล้ว ให้ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันในบริเวณผิวที่เเห้ง มาส์กหน้าด้วยมาส์กที่ออกแบบมาเพื่อคนผิวผสมโดยทำสัปดาห์ละครั้ง
  • เพื่อป้องกันการเกิดรังแคหรือเชื้อราบริเวณหนังศีรษะ เนื่องจากมีน้ำมันมากเกินไปให้ใช้แชมพูที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดรังแค เช่น แชมพูที่มีส่วนผสมของ Pyrithione Zinc หรือ Selenium Sulfide หรือแชมพูที่มีฤทธิ์ในการขจัดเชื้อรา เช่น Ketoconazole โดยใช้วันเว้นวันจนกว่าจะสามารถควบคุมรังแคและเชื้อราได้ หลังจากนั้นควรใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ผิวแพ้ง่าย

เป็นผิวอีกประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ มีคนจำนวนไม่น้อยสับสนระหว่างอาการแพ้ที่เป็นปกติกับอาการแพ้ที่ผิดปกติ อาการแพ้ที่เป็นปกติคืออาการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเคมี หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของกรด ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางหรือสารทำความสะอาดที่รุนแรง เป็นต้น อาการแพ้ดังกล่าวถือว่าเป็นอาการปกติและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ในขณะที่ผิวแพ้ง่ายคือผิวที่มีอาการแพ้ที่ผิดปกติ นอกจากจะแพ้สารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองแล้ว ผิวแพ้ง่ายยังอาจมีอาการแพ้ในสิ่งที่ไม่น่าจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ลม เป็นต้น แต่เพื่อให้แน่ใจว่าอาการแพ้ที่เป็นอยู่มีสาเหตุมาจากสภาพผิว หรือเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองโดยไม่รู้ตัว ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ ผิวหนัง (Skin) ผู้เชี่ยวชาญ หากพบว่าอาการแพ้ที่คุณเป็นอยู่เกิดจากสภาพผิว

  • เมื่อต้องออกแดด ควรทาครีมกันแดดชนิดบางเบา ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทนเนอร์ เนื่องจากโทนเนอร์ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะมีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น สารทำความสะอาดที่รุนแรง แอลกอฮอล์ สารกันบูด น้ำหอม สีสังเคราะห์ เป็นต้น
  • ใช้เครื่องสำอางที่ติดทนนานให้น้อยลง และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารชะล้างที่รุนแรง
  • หากต้องแต่งหน้าควรเลือกใช้เครื่องสำอางที่ล้างออกได้ง่าย ๆ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือหันไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์หรือน้ำแร่แทน
  • ทำความสะอาดผิววันละ 1-2 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดบางเบาที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือเกิดอาการอุดตันของรูขุมขนซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสิวได้ในที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม สาร SLS,SLES ที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว